สาเหตุของผนังครัวหลังบ้านร้าว กระเบื้องแตกหลุดร่อน “การต่อเติมห้องครัวแล้วทรุด”
ปัญหาเรื่องการทรุดตัวของห้องครัวที่ต่อเติมจากตัวบ้านเดิมด้วยเสาเข็มสั้นเป็นเรื่องปกติ และมีคำถามมาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนว่า ครัวที่ต่อเติมมาเริ่มแตกร้าว เอียงล้มจนใกล้พัง แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง (เจ้าของบ้านบางคนถึงกับดักคอไว้เลยว่า นอกจากทำใจแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว)
การต่อเติมด้วยเสาเข็มสั้นนั้น อย่างไรก็ตาม มันก็จะเกิดการทรุดตัวมากกว่าตัวบ้านที่ใช้เสาเข็มยาว หากส่วนต่อเติมนั้นมีการก่อสร้างมาอย่างถูกหลักการ คือทำการแยกโครงสร้างตัดขาดจากตัวบ้าน ปัญหาที่พบก็จะมีเพียงเกิดรอยร้าว หรือช่องว่างที่อยู่ระหว่างรอยต่อของส่วนต่อเติมกับตัวบ้าน ซึ่งสามารถแก้ไขได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการอุดด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านค้าวัสดุทั่วไป สามารถซ่อมแซมกันเองได้เลย
ปัญหาที่หนักจะเกิดกับส่วนต่อเติมที่มีการก่อสร้างเชื่อมต่อกับตัวบ้านจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งสามารถแยกปัญหาดังกล่าวเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. ก่อสร้างโครงสร้างส่วนต่อเติมแยกขาดกับตัวบ้าน แต่มีก่อผนัง หรือปูกระเบื้องเชื่อมต่อ หรือชนกับตัวบ้าน รอยร้าวจะเกิดที่รอยต่อผนังที่ก่อชน ยิ่งถ้ามีการบุกระเบื้องผนัง หรือปูกระเบื้องพื้นไปชน รอยแตกร้าวจะยิ่งมีมากขึ้น
ในกรณีนี้ การแก้ไขทำได้ไม่ยาก สามารถแก้ไขโดยการตัดกระเบื้องบริเวณรอยต่อออก แล้วตัดแยกส่วนผนังที่ก่อชนออก พื้นก็ให้สกัดปูทรายปรับระดับที่เทชนผนังตัวบ้านเดิมออกให้หมด หลังจากนั้นจึงปูกระเบื้องพื้น ผนัง โดยกันร่องบริเวณรอยต่อชนไว้ประมาณ 1 ซม. แล้วอุดด้วยวัสดุยืดหยุ่นประเภท PU เพื่อป้องกันน้ำ และแมลง รอยต่อดังกล่าวเมื่อหลุดออก หรือแยกตัวออกก็สามารถซ่อมแซมได้เองค่อนข้างง่าย
- ก่อสร้างโครงสร้างพื้น และหลังคาเชื่อมยึดกับตัวบ้าน จะเกิดการทรุดตัว ดึงรั้งให้ผนัง และหลังคาแยกออกจากตัวบ้าน การแก้ไขทำได้ค่อนข้างยาก ปัจจัยหลักขึ้นกับอัตราการทรุดตัวของดินบริเวณนั้น กับความแข็งแรงของโครงสร้างส่วนต่อเติม แนวทางในการแก้ไข มีดังนี้
2.1 หากอัตราการทรุดตัวของดินมีไม่มาก รอยแตกร้าวจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงต้น แต่จะน้อยลง เนื่องจากปกติดินจะทรุดตัวจนถึงระดับที่ดินแน่น รอยแตกร้าวจะน้อยลง หรือหยุดได้ในที่สุด ดังนั้น การซ่อมรอยร้าวแนะนำให้อุดด้วยวัสดุอุดประเภทยืดหยุ่น อย่าอุดด้วยปูน ซ่อมหลังคาโดยใส่ปีกนก เพื่อป้องกันน้ำรั่ว
2.2 หากอัตราการทรุดตัวของดินค่อนข้างมาก รอยแตกร้าวจะค่อนข้างกว้าง พื้นจะเอียง เทออกจากแนวอาคาร จนไม่สามารถใช้งานได้ แนวทางในการแก้ไขมีดังนี้
2.2.1 หากการทรุดตัวของพื้นหยุด หรือน้อยลงมากแล้ว ให้ทำการรื้อผนังโดยรอบออกให้หมด เปลี่ยนวัสดุผนังเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ผนังไม้เทียม รวมถึงเคาน์เตอร์ครัวทั้งหมด ให้ใช้มวลเบา หรือใช้โครงเหล็กบุด้วยไม้เทียม ส่วนพื้นปรับระดับใหม่ ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงลงได้ค่อนข้างมาก
2.2.2 เสริมด้วยเสาเข็มประเภทไมโครไพล์ อาจจะเป็นเสาเข็มท่อเหล็ก หรือเข็มคอนกรีตท่อนเล็ก ๆ ใช้เครื่องตอกขนาดเล็กตอกเสริมเพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างครัว ในกรณีนี้ควรให้วิศวกร หรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาดำเนินการให้ ราคาโดยรวมค่อนข้างแพง ควรเปรียบเทียบกับการรื้อถอนแล้วก่อสร้างใหม่ว่าคุ้มค่าหรือไม่